หวานได้ไม่ทำร้ายสุขภาพ
จากการวิจัยและศึกษาเรื่องพฤติกรรม การรับประทานอาหารและน้ำของคนไทยล่าสุด จากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) พบว่าคนไทยติดรับประทานหวานมากขึ้น เฉลี่ยรับประทานน้ำตาลกว่า 29 กิโลกรัม/ ปี หรือ 18 ช้อนชา/วัน ทำให้เกิดโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง มากขึ้นกว่า 30%! ทำให้น่าสังเกตว่า วันหนึ่งเราเติมน้ำตาลลงเครื่องดื่มหรืออาหารกี่ช้อนชา? ปกติคนทั่วไปควรได้รับน้ำตาลไม่เกินวันละ 4-8 ช้อนชา ยิ่งถ้าเป็นเด็กวัยเรียน ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุไม่ควรเกินวันละ 3 ช้อนชา แต่จะให้งดก็คงทำยากอยู่... เมื่อเป็นแบบนี้สารพัดน้ำตาลที่รับประทานทุกวัน มีชนิดใดบ้างที่เลือกทานแล้ว ยังให้ประโยชน์ต่อร่างกายชนิดที่เรียกว่า “เติมหวานได้แต่ไม่ทำร้ายสุขภาพ” เราลองมาทำความรู้จักคุณค่าน้ำตาลและความหวานกัน
น้ำตาลทราย
แม้น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายแดงให้รสชาติหวานเหมือนกัน คือ 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี หรือเทียบง่ายๆ 1 ช้อนชา ให้พลังงานประมาณ 19 กิโลแคลอรี แต่ให้คุณค่าทางอาหารต่างกัน
• | น้ำตาลทรายขาว ได้มาจากอ้อยแล้วผ่านกรรมวิธีการผลิต ตกผลึกให้เป็นเกล็ดและผ่านการฟอกสี ดังนั้นวิตามินแทบจะไม่หลงเหลืออยู่เลย |
• | น้ำตาลทรายแดง ยังรักษาคุณค่าทางวิตามินได้ดีกว่าน้ำตาลทรายขาว เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก |
แต่ดัชนีน้ำตาลของน้ำตาลทรายและน้ำตาลทรายแดงอยู่ที่ 73-75 ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง ไม่เหมาะสำหรับคนที่ควบคุมน้ำหนักหรือเป็นโรคเบาหวาน
ถ้าเทียบพลังงานระหว่างน้ำตาลทรายและน้ำอ้อยในปริมาณที่เท่ากัน น้ำอ้อยมีฟอสฟอรัสและให้พลังงานน้อยกว่าน้ำตาลทรายถึง 5 เท่า เพราะน้ำอ้อยมีส่วนผสมของน้ำอยู่มาก แต่มีปริมาณแคลเซียมน้อยกว่าน้ำตาลทราย
น้ำตาลปี๊ปหรือน้ำตาลปึก
น้ำตาลปี๊บได้มาจากการเคี่ยวน้ำของยอดทลายอ่อนของมะพร้าวจนกระทั่งเหนียว ข้นและหวาน เป็นเครื่องปรุงติดบ้านคู่ใจแม่บ้านชาวไทยทุกครัวเรือน เพราะนอกจากความหวานแล้ว ยังได้ความหอมอร่อยอีกด้วย น้ำตาลปี๊ป 1 ช้อนชา ให้พลังงาน 18 กิโลแคลอรี ยังมีคุณค่าและวิตามินบ้าง เช่นแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก
นมข้นหวาน
เป็นสารให้ความหวานที่ผลิตมาจากหางนม นำมาเติมน้ำตาลในปริมาณเข้มข้น และดึงไอระเหยจนข้นเหนียว นมข้นหวาน 1 ช้อนชา ให้พลังงาน 20 กิโลแคลอรี ถ้าเทียบในคุณค่าทางโภชนาการ นมข้นหวานให้พลังงานสูงมาก แต่ยังพอมีโปรตีน ไขมัน ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก วิตามินบี 1 บี 2 วิตามินซี และวิตามินเอ มากกว่าน้ำตาลชนิดอื่น แต่ก็ไม่เป็นอาหารหลักอยู่ดี ไม่มีคุณค่าทางอาหารเหมือน “นม” ปกติทั่วไป ไม่ควรให้เด็กรับประทานมากๆ เพราะจะทำให้อ้วนและมีผลต่อสุขภาพฟัน
น้ำตาลเทียม
เป็นสารให้ความหวานที่ได้จากการสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นสารให้ความหวานที่เป็นทางเลือก ของคนที่ควบคุมน้ำหนักหรือเป็นเบาหวาน น้ำตาลเทียมที่ขายทั่วไปคือ แซคคาริน แอสปาเทม ซูคาโลส ซึ่งให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลปกติตั้งแต่ 200-600 เท่า แต่ให้พลังงานต่ำ การใช้น้ำตาลเทียมในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ จะเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มที่บอกว่า “ให้แคลอรี 0” หรือ “ไม่มี น้ำตาล” แต่ยังคงรสหวานได้เหมือนปกติ แต่ก่อนเลือกให้ดูที่ฉลากสักนิด เพราะอาจให้พลังงานหลากหลายตั้งแต่ 0 แคลอรีจนถึง15 แคลอรี/ซอง และสำหรับการปรุงอาหารและเครื่องดื่ม น้ำตาลเทียมบางชนิดสามารถปรุงอาหารขณะร้อนได้ แต่บางชนิดก็ไม่ได้ ต้องยกลงจากเตาก่อน หรือผสมลงในเครื่องดื่มที่ไม่ร้อนจัด มิฉะนั้นความหวานจะหายไป
น้ำผึ้ง
น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา ให้พลังงานประมาณ 15 กิโลแคลอรี น้ำผึ้งเป็นสารให้ความหวานต่างจากชนิดอื่นๆ ตรงที่อุดมไปด้วยโปรตีน พลังงาน วิตามินและเกลือแร่ ดัชนีน้ำตาลของน้ำผึ้งอยู่ที่ 55 ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ดีต่อสุขภาพมากกว่า น้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลทรายแดง จึงเป็นทางเลือกที่ดีของการปรุงอาหาร หรือเครื่องดื่มของคนที่กำลังลดน้ำหนัก ทั้งนี้ก็ไม่แนะนำให้รับประทานเกินวันละ 6 ช้อนชา มิฉะนั้นอาจเป็นผลร้ายต่อสุขภาพแทน
น้ำเชื่อม
เป็นการใช้น้ำตาลมาเคี่ยวผสมกับน้ำจนกระทั่งใส ส่วนใหญ่คนไทยจะใช้ปรุงอาหารหวานหรือเครื่องดื่มต่างๆ น้ำเชื่อมแต่ละชนิดก็ให้รสหวานเข้มข้นต่างกัน ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ผสม (หวานมากก็ให้พลังงานมากตาม) ส่วนวัตถุดิบที่นำมาทำเป็นน้ำเชื่อมสำเร็จรูปจากต่างประเทศ คุณค่าทางอาหารจะขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่นำมาใช้ เช่น องุ่น เมเปิลหรือแอปเปิล มักจะมีการเติมสารอาหารบางชนิดลงไปเพื่อขยายผลทางการค้านั่นเอง
เมื่อทราบดังนี้แล้ว ต้องกะปริมาณน้ำตาลให้ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วนหรือความดันโลหิตสูง ยิ่งต้องระวังและมีเป้าหมายในการรักษาจากการดูแลเรื่องโภชนาการ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติเท่าที่จะทำได้ รักษาระดับไขมันในเลือดให้เหมาะสม รักษาน้ำหนักตัวและป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ พร้อมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อชีวิตที่มีความสุข
แหล่งน้ำตาลมีทั้งที่มาจากพืชและสัตว์ แหล่งน้ำตาลของพืชจะเป็นพืชที่มีหัว ซึ่งปริมาณน้ำตาลที่ได้จะแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีสารอาหารอื่นปนอยู่ด้วยเช่น โปรตีน ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ พืชที่ให้น้ำตาล ได้แก่ ข้าวชนิดต่าง ๆ เผือก มัน ข้าวโพด อ้อย ตาล มะพร้าว ส่วนแหล่งน้ำตาลจากสัตว์ จะเป็นน้ำตาลในนมและไกลโคเจนที่เป็นพลังานสำรองในส่วนกล้ามเนื้อและตับ เทียบกันแล้วความหวานและปริมาณน้ำตาลจากสัตว์จะมีน้อยกว่าพืช
ธิติมา ปฎิพิมพาคม นักโภชนาการ
แหล่งข้อมูล : นิตยสาร HealthToday
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณมากเลยน้า
เดี๋ยวเรา print ไปให้แม่อ่านดีกว่า
มีประโยชน์มากเลยอะ
:)
แสดงความคิดเห็น